โรคกล้ามเนื้อปวดเรื้อรัง คืออะไร ?
โรคกล้ามเนื้อปวดเรื้อรัง (Myofacial pain syndrome) คือ อาการปวดและอาการอักเสบที่เกิดขึ้นในส่วนของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (โดยส่วนใหญ่จะมีการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ) อาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อมักจะเกิดขึ้นโดยที่คนเหล่านั้นคิดว่าเป็นอาการปวดทั่วไปและมักจะละเลยกับอาการบาดเจ็บเหล่านี้ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่อาการเหล่านี้จะเป็นอาการปวดเรื้อรังและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
โรคกล้ามเนื้อปวดเรื้อรัง มักเป็นโรคที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและถูกมองข้ามเพราะมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเกิดปัญหาจาก เส้นประสาท กระดูก หรือเส้นเอ็น แต่ในความเป็นจริงแล้วสาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อ โดยโรคนี้มักจะไม่มีการทดสอบจากทางห้องปฎิบัติการเพื่อยืนยันอาการที่เกิดขึ้น และยังไม่มีอาการแสดง เช่น อาการบวม แดง ร้อน ปรากฎที่กล้ามเนื้อ ซึ่งเบื้องต้น โรคกล้ามเนื้อปวดเรื้อรังจะเป็นอาการบาดเจ็บที่บริเวณเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อ
วิธีที่ดีที่สุดควรเข้ารับคำปรึกษาโดยผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ หรือเข้ารับคำปรึกษากับนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญที่ BPC ซึ่งสามารถช่วยตรวจประเมินกลุ่มอาการเหล่านี้ โดยการคลำหาจุดกดเจ็บและบริเวณที่มีอาการตึงตัวของกล้ามเนื้อ โดยการคลำหาจุดกดเจ็บนั้นเราจะใช้แรงกดเพื่อไปกระตุ้นบริเวณจุดที่มีอาการซึ่งจะส่งผลให้มีอาการปวดโดยจะมีอาการปวดบริเวณที่กดหรืออาจมีอาการปวดร้าวไปที่บริเวณอื่นร่วมด้วย (Refer pain)
กิจกรรมหรือการกระทำต่อไปนี้คือต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อปวดเรื้อรัง
สาเหตุและสิ่งรบกวนที่เกิดจากกิจวัตรประจำวัน
- ทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำ ๆ – การเคลื่อนไหวแบบเดิมซ้ำ ๆ เช่น การพิมพ์งานต่อเนื่องหรือเล่นโทรศัพท์มากเกินไป
- ขาดการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย – นั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน , ไม่ลุกเดินหรือทำการเคลื่อนไหวที่มากพอ
- ท่าในการนอนที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดในหลาย ๆ ส่วนของร่างกาย เมื่อเรานอนในท่าที่ไม่ถูกต้อง เช่นการนอนทับแขนข้างเดียวก็จะส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บได้
- ท่าทางที่ไม่เหมาะสม – เมื่อข้อต่อ กล้ามเนื้อ และกระดูกสันหลังอยู่ในตำแหน่งที่ผิดจากปกติ จะส่งผลต่อพวกเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อและนำไปสู่การเป็นโรคกล้ามเนื้อปวดเรื้อรัง เช่น การลุกขึ้นนั่งที่ไม่ถูกต้อง , ไหล่ห่อ , แบกของหนักข้างเดียว และหนีบโทรศัพท์ไว้ระหว่างคอกับไหล่ เป็นต้น
- ปัจจัยทางอารมณ์ – ความเครียด ภาวะซึมเศร้า หรือ ความวิตกกังวล เมื่อเกิดอาการเหล่านี้มักจะกระตุ้นให้เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่จะส่งผลให้เกิดโรคกล้ามเนื้อปวดเรื้อรัง
- การทานอาหาร – การได้รับวิตามินหรือแร่ธาตุที่จำเป็นไม่เพียงพอ มักส่งผลต่อกล้ามเนื้อและทำให้อาการของ โรคกล้ามเนื้อปวดเรื้อรังนั้นรุนแรงขึ้น
- การปวดศีรษะจากความตึงเครียด – อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ทำให้เกิดความตึงตัวของกล้ามเนื้อเช่นเดียวกับอาการปวดศีรษะโดยที่ผู้ป่วยไม่ทราบสาเหตุของการปวดที่แท้จริง ทำให้เกิดจุดกดเจ็บของกล้ามเนื้อขึ้นสะสมเป็นเวลานานจะส่งผลต่อการทำงานของสมองและทำให้เกิดการปวดศีรษะขึ้นได้
สาเหตุทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เกิดอาการปวด
- การตอบสนองต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อทั่วไป – การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่เกิดจากแรงกระทำหรือเกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อ โดยกล้ามเนื้อที่เกิดการหดตัวเหล่านี้มักจะเป็นไปตามอัตโนมัติ
- จุดกดเจ็บ (Trigger point) – ปม (Knot) ในกล้ามเนื้อ จะทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงร่วมกับเกิดอาการปวดร้าว โดยจะมีอาการแสดงเกิดขึ้นเมื่อถูกกดเพื่อตรวจหาจุดเหล่านี้
โดยจุดกดเจ็บ(Trigger point)จะมีอยู่ 4 ประเภท
- Active trigger point – จะมีอาการปวดแม้จะอยู่เฉย ๆ
- Latent trigger point – เมื่ออยู่เฉย ๆ มักจะไม่มีอาการปวด และอาการปวดจะเกิดขึ้นเมื่อมีแรงกดจากแรงกระทำ
- Secondary trigger point – จะมีอาการปวดที่กล้ามเนื้อบริเวณอื่นที่ไม่ใช่กล้ามเนื้อหลักที่เกิดอาการ จะมีอาการปวดหรือไม่มีอาการปวดก็ได้เมื่อมีการกระตุ้นที่บริเวณกล้ามเนื้อหลัก
- Satellite trigger point -มักจะไม่มีอาการปวดเนื่องจากเป็นจุดที่ซ้อนทับกับจุดกดเจ็บหลัก